วัดเทสก์ธรรมนาวา
วัดเทสก์ธรรมนาวา (วัดท่าไทร) 

             สำหรับใครที่จะเดินทางไปเที่ยวริมทะเล แต่ไม่แนะนำให้ลงเล่นน้ำเพราะอย่าลืมว่าหน้าหาดทรายนั้นเป็นพื้นที่ของวัด อาจดูไม่เหมาะสม ขอให้ตั้งอยู่บนความเหมาะสม

             ที่ตั้งของวัดเทสก์ธรรมนาวา หรือ วัดท่าไทร นั้นตั้งอยู่ ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง

             “วัดป่ากรรมฐานเฉียดยอดคลื่นแห่งทะเลอันดามัน พระอาจารย์ผู้สืบทอดปฏิปทากองทัพธรรม หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี(เทสรังสี)”
ข้อความจาก“พระครูไพศาลสมณคุณ เสียงสุนีย์ พึ่งพันธุ์” บ่งบอกถึงตัวตนอันเด่นชัดของ “วัดเทสก์ธรรมนาวา” ที่วันนี้โดดเด่นไปด้วย“โบสถ์ไม้สักริมทะเล” หนึ่งเดียวในภาคใต้
เป็นโบสถ์ไม้สักเฉียดยอดคลื่นที่เกิดจากพลังแห่งศรัทธา อีกทั้งยังน่าทึ่งตรงที่สร้างขึ้นในบริเวณพื้นที่ที่เคยเป็น“ป่าช้า”มาก่อนวัดเทสก์ธรรมนาวา หรือ “วัดป่าไทร”(ชื่อเดิม) ตั้งอยู่ที่บ้านท่าแตง       ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เป็นวัดริมทะเลบริเวณหาดชายทะเลท่าไทร
            ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นป่าเรียก“ป่าท่าไทร” ซึ่งนอกจากจะเป็นป่าของต้นไม้น้อยใหญ่แล้ว ยังเคยเป็น“ป่าช้า”มาก่อน อันเนื่องมาจากในอดีตป่าท่าไทรแห่งนี้ ชาวบ้านในพื้นที่และละแวกใกล้เคียง เมื่อมีคนตายเสียชีวิตลงก็จะนำศพล่องเรือมาเผาหรือฝังยังป่าท่าไทรแห่งนี้ ซึ่งชาวบ้านเรียกขานกันว่า “อ่าวเหรว” หรือ แอ่งน้ำในป่าช้า (อ่าว คือ น้ำไหล เข้ามาเป็นแอ่งกว้าง เหรว หมายถึง ป่าช้า) ขณะที่แนวพื้นที่หาดชายทะเลท่าไทรนั้น เป็นแนวป่าสนชายฝั่งทะเลมีชายหาดทอดตัวยาวไกล เป็นหาดที่สงบและสะอาด จึงมีเต่าทะเลต่างๆขึ้นมาวางไข่ที่หาดแห่งนี้เป็นประจำในราวช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ในยุคสมัยที่การทำเหมืองแร่ใน จ.พังงา เจริญรุ่งเรือง มีเรื่องเล่าว่าพื้นที่โดยรอบของป่าท่าไทรสามารถทำเหมืองได้หมด ยกเว้นที่ป่าท่าไทร ซึ่งเป็นดังไข่แดงอยู่        ตรงกลาง ส่วนจะเป็นเพราะอะไรนั้นไม่อาจพิสูจน์ได้ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่าเป็นพื้นที่อาถรรพ์ พอถึงยามตะวันใกล้ลับฟ้า ชาวบ้านที่มาทำธุระเฉียดพื้นที่แถบนี้ต่างรีบเดินทางออกจากป่าท่าไทรก่อนพลบค่ำ หรือแม้แต่ใครที่นำวัวควายมาหากินที่นี่ หากถึงยามตะวันใกล้ลับฟ้า ฝูงวัวควายของชาวบ้านคนไหนที่ยังหากินเพลินอยู่ในป่าท่าไทร เจ้าของฝูงวัวควายก็จะปล่อยไว้ไม่กล้าไปไล่ต้อนออกมา เพราะต้องรีบออกจากป่าแห่งนี้ให้เร็วที่สุด ส่วนใครที่คิดไปลองดีลองของที่ป่าท่าไทร ไม่เสียชีวิตก็เสียสติกันมานักต่อนัก ว่ากันว่าผืนป่าแห่งนี้เหมือนจะรอคอยอะไรสักอย่าง เจ้าป่าเจ้าเขาจึงปกปกรักษาไว้ ไม่ให้ใครมาทำไม่ดีให้เกิดความเสื่อมสกปรก  ผืนป่าท่าไทรดำรงสถานะของป่าอันน่าฉงนมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2533 ได้มีพระชัยพล อาสโภ และพระอานนท์ พระผู้ติดตาม ได้เดินทางเข้ามาบำเพ็ญภาวนา ด้วยเห็นว่าพื้นที่ป่าท่าไทรมีความเงียบสงบ เหมาะต่อการปฏิบัติภาวนา
               หลังจากนั้นแรงศรัทธาจากชุมชนและในพื้นที่ใกล้เคียงที่รู้ข่าวก็ได้ร่วมใจกันมาสร้างเป็นที่พักสงฆ์ มีการสร้างศาลามุงจาก สร้างกุฏิให้พระจำพรรษา  ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 พระอาจารย์เสนอ วัดถ้ำทะเลหอย จ.กระบี่ ได้ขอพื้นที่จากอธิบดีกรมป่าไม้สมัยนั้น(นายผ่อง เล่งอี้) อนุมัติให้ใช้พื้นที่ตามโครงการ พุทธศาสนากับป่าไม้ ในชื่อโครงการว่า ศูนย์สาธิตพระพุทธศาสนากับป่าไม้ ภายใต้การกำกับดูแลของวัดประชาธิการาม  ปี พ.ศ. 2537 แหล่งปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ได้ก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์ท่าไทร โดยได้รับการอนุญาตจากทางการ ในเรื่องการขอใช้พื้นที่เพื่อเป็นศาสนสถานในการประกอบศาสนกิจและบำเพ็ญกุศลของชาวบ้านในหมู่บ้านท่าแตงและละแวกใกล้เคียง ให้ได้รับการปลูกฝังอบรมธรรมปฏิบัติอันจะเป็นการปลูกสร้างศรัทธาญาติโยมให้ยึดมั่นอยู่ในความดีงามตามระบอบของพระพุทธศาสนา และเป็นศูนย์รวมที่พึ่งทางจิตใจของประชาชนในการพัฒนากิจกรรมทางสังคม เช่นการปลูกป่า หรืออบรมธรรม ตามกาลอันควร ช่วยดำรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงถาวรและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นสำนักสงฆ์ท่าไทร ได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีพระภิกษุมาพำนักอยู่ในบางขณะ เนื่องจากสำนักสงฆ์ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ
              กระทั่งในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการนิมนต์ “พระอาจารย์วินัย รัตนวณฺโณ” หนึ่งในผู้ที่ได้อยู่ปฏิบัติอาจารริยวัตรกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย มาเป็นเวลานาน    16 ปี จวบตนหลวงปู่เทสก์ท่านละสังขาร พระอาจารย์วินัยเมื่อมาพำนักปฏิบัติธรรมที่สำนักสงฆ์ท่าไทร ก็ได้นำพาศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนก่อสร้างเสนาสนะพร้อมอบรมปฏิบัติธรรมในที่ดินสาธารณะประโยชน์หรือป่าช้าเดิม  จากนั้นพระอาจารย์วินัยได้ดำเนินการก่อตั้งวัดขึ้น จนกระทั่งได้รับอนุญาตให้สร้างวัดจากรมการศาสนาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 และได้รับอนุญาตให้      ตั้งวัดในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553 นามว่า “วัดเทสก์ธรรมนาวา” วัดเทสก์ธรรมนาวา ได้รับประทานนามวัดจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  ตามประกาศในหนังสือที่พิเศษ/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๑ พร้อมกันที่พระอาจารย์วินัยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกแห่งวัดเทสก์ธรรมนาวา นอกจากนี้พระอาจารย์วินัยยังได้ดำเนินการขอรับ พระราชทานวิสุงคามสีมา หรือ เขตที่พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่สร้างอุโบสถ โดยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่         22 สิงหาคม 2557   

               วัดเทสก์ธรรมนาวา หรือวัดท่าไทร ปัจจุบันมีสิ่งก่อสร้างสำคัญคือ “พระอุโบสถไม้สัก” ขนาด กว้าง 8.30 เมตร ยาว 23.10 เมตร สูง 13.54 เมตร โบสถ์ไม้สักหลังนี้เป็นโบสถ์ไม้สักริมทะเลตั้งอยู่ติดกับหาดชายทะเลท่าไทร เพียงเดินไปไม่กี่สิบเมตรก็ถึงยังชายหาดอันกว้างไกล โบสถ์ไม้สักวัดท่าไทรเป็นอาคารทรงไทยอันสวยงามอ่อนช้อย สมส่วน โครงสร้างภายนอกจำลองแบบ        มาจาก พระอุโบสถพระอรัญวาสี อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย มาประยุกต์สร้างด้วยไม้ ส่วนช่อฟ้าของโบสถ์แกะสลักจากช่างฝีมือชาวเชียงใหม่ ภายในโบสถ์ไม้สัก มีผนังเป็นฝาปะกน มีแท่นพระประธาน  ชั้นบนประดิษฐานพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา แกะสลักจากหินหยกขาว อิทธิพลศิลปะอินเดีย มีขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 55 นิ้ว สูงประมาณ 2.15 เมตร มีพุทธลักษณะที่อ่อนช้อยงดงามเปี่ยมศรัทธา ส่วนบริเวณรอบโบสถ์ไม้สักมีกำแพงแก้วเป็นไม้ ใบเสมาแกะสลักจากหินหยกขาวมีรูปพระพุทธรูปอยู่ตรงกลาง ตรงบันไดทางเข้าโบสถ์ประดับเสาอโศกสีทองอร่าม โบสถ์ไม้สักวัดท่าไทรมีอีกหนึ่งลักษณะพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั่นก็คือ จะประดับประดาด้วยงานไม้แกะสลักฝีมือช่างจากอยุธยาอันประณีต อ่อนช้อย ทั้งตามบริเวณบานประตู หน้าต่าง หน้าบัน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ โดยเฉพาะที่บานหน้าต่างนั้นโดดเด่นไปด้วยงานแกะสลัก ปรมัตถบารมี 10 ซึ่งเป็นการบำเพ็ญบารมีชั้นสูง การเสียสละชีวิตของตนเองเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น อันประกอบไปด้วย
     ทานปรมัตถบารมี   -  สสปัณฑิต ผู้สละชีวิต เลือดเนื้อเป็นทาน
                                                                               ศีลปรมัตถบารมี   –   สังขปาลนคาราช สละชีพเพื่อรักษาอุโบสถศีล                                                                    เนกขัมมปรมัตถบารมี – ยุชัยกุมาร ผู้แสวงความสิ้นกิเลส
ปัญญาปรมัตถบารมี – เสนกบัณฑิต ผู้มีปัญญาช่วยผู้อื่นให้พ้นเหตุแห่งทุกข์
วิริยปรมัตถบารมี – พระมหาชนก ผู้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี
ขันติปรมัตถบารมี – ขันติวาทีฤาษี ผู้ถือขันติ ไม่โกรธเคืองแม้โดนทำร้าย
สัจจปรมัตถบารมี – สุตโสม สัตตบุรุษผู้รักษาสัจจะยิ่งชีพ
อธิษฐานปรมัตถบารมี – พระเตมีย์ กุมารผู้โง่เขลา มั่นบำเพ็ญเพียรแสวงธรรม
เมตตาปรมัตถบารมี – พระเจ้าเอกราช ผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาต่อศัตรูเยี่ยงบุตร
อุเบกขาปรมัตถบารมี – มหาโลมหังสกุมาร ผู้ไม่ยินดียินร้ายในสุขและทุกข์ดุจตราชั่ง

          นับว่าบานหน้าต่างโบสถ์ไม้สักที่นอกจากด้านหนึ่งจะเปิดออกเห็นฝั่งทะเลแล้ว ยังมีความน่าทึ่งกับงานแกะสลักไม้อันสวยงามว่าด้วยปรมัตถบารมี 10 เป็นปริศนาธรรมให้ตีความ และนำไปขบคิดต่อยอดด้วยความแปลกแตกต่าง และความสวยงามน่าทึ่งเป็นหนึ่งเดียวในภาคใต้ ทำให้โบสถ์ไม้สักวัดท่าไทร ได้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดน่าสนใจแห่งใหม่ใน จ.พังงา อย่างไรก็ดีที่นี่ไม่ใช่สถานที่      ท่องเที่ยว   แต่ทางวัดได้เปิดให้ผู้สนใจได้เข้ามาเรียนรู้ธรรมะที่มีแฝงอยู่ตามจุดต่างๆของโบสถ์หลังนี้ ดังนั้นผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมต้องสำรวม กาย วาจาใจ แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย และเคารพในสถานที่ ซึ่งนี่นับเป็นวัตรปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่ดี และเป็นสิ่งอันพึงกระทำของนักท่องเที่ยวที่ดี ที่วิญญูชนต้องให้ความสำคัญมากกว่าจะมุ่งมั่นถ่ายรูป เซลฟี่ วีฟี่ กันแต่อย่างเดียว

       เครดิตบทความดีๆจาก  :   https://mgronline.com/travel/detail/9590000078480                        


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image

image วิดีโอ

แสดงความคิดเห็น
image
ความคิดเห็น
image
image
image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 489,211